โรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน สืบสานตำรานวดไทยตำรับวัดโพธิ์
ความเคร่งเครียดในการทำงานประกอบกับวิถีชีวิตปัจจุบันที่เวลาส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับสมาร์ทโฟนเป็นหลักจนก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว รวมถึงความตึงเครียดทางอารมณ์ หลายคนเลือกใช้วิธีการนวดเพื่อบำบัดอาการปวดเมื่อยดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งจากคนไทยและต่างชาติ จนทำให้ธุรกิจร้านนวดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเอ่ยถึงการนวดแล้ว “นวดแผนโบราณวัดโพธิ์” มักจะเป็นชื่อแรกที่เรานึกถึง เพราะถือเป็นต้นตำรับการนวดที่มีมาแต่อดีตสืบทอดต่อมาจนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยมีโรงเรียนนวดแผนโบราณ “เชตวัน” หรือโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นผู้ทำหน้าที่รักษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเหล่านี้
สำหรับความเป็นมาของโรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน หรือหลายคนมักนิยมเรียกว่าโรงเรียนนวดวัดโพธิ์นั้น ต้องย้อนกลับไปสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ “วัดโพธาราม” หรือ “วัดโพธิ์” ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ทรงรวบรวมการแพทย์แผนโบราณและโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆ เอาไว้ด้วย
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่างๆ ทั้งความรู้ทางการแพทย์ ตำรายา ตำราโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ศาสนา การปกครอง รวมถึงตำราการนวด จารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ตามศาลาราย รวมถึงปั้นรูปฤๅษีดัดตนเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษา
จนเมื่อปี 2498 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนขึ้นตามดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ ในด้านเวชกรรม เกสัชกรรม และการผดุงครรภ์ กระทั่งปี พ.ศ. 2504ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จมายังวัดโพธิ์และตรัสถามกับคณะครูของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณว่าได้มีวิชานวดสอนด้วยหรือไม่
ซึ่งจากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการนวดที่มีอยู่นำมาจัดทำเป็นหลักสูตรและเปิดทำการสอน และก่อตั้งเป็นโรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2505 เป็นต้นมา โดยมีกำธร ตั้งตรงจิตร อดีตนายกสมาคมแพทย์แผนโบราณ เป็นผู้บริหารรุ่นแรก
กว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา จากโรงเรียนเล็กๆ ภายในวัดโพธิ์ วันนี้โรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวันได้ปรับปรุงหลักสูตร มาตรฐานการเรียนการสอนจนเป็นที่เชื่อถือและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนได้ขยายสาขาออกไปถึง 4 สาขา อันได้แก่ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนซึ่งแต่เดิมอยู่ภายในบริเวณวัดโพธิ์ก่อนขยายออกไปยังบริเวณท่าเตียน โรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน (แจ้งวัฒนะ) โรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน (เชียงใหม่) และโรงเรียนสุขภาพเชตวัน (ศาลายา) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการนวดและการแพทย์แผนไทยให้กับผู้ที่สนใจ
โดยหลักสูตรที่เปิดสอนนั้นมีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและวิชาชีพ ประกอบไปด้วย นวดแผนโบราณ, นวดเท้า, นวดบำบัดรักษา, นวดน้ำมันและน้ำมันหอมระเหย, นวดผู้หญิงซึ่งเป็นวิธีการนวดและดูแลสุขภาพผู้หญิง เช่น การนวดลดอาการปวดท้องระหว่างมีรอบเดือน นวดสตรีมีครรภ์ การประคบและอบสมุนไพร, หลักสูตรการนวดทารกและเด็กเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตและเสริมสร้างพัฒนาการ, หลักสูตรวิชาชีพนวดไทยชั้นต้นและชั้นกลาง สำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบเพื่อขอรับวุฒิบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรการนวดแผนไทยสำหรับชาวต่างชาติ สปา และที่สำคัญมีการเปิดสอน “ฤๅษีดัดตน” ท่าบริหารร่างกายตามตำราที่สืบทอดมาแต่ครั้งโบราณอีกด้วย
ในปีหนึ่งๆ มีผู้มาเรียนจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น หากแต่ชาวต่างชาติก็นิยมมาเรียนด้วยเช่นกัน ทั้งเรียนเพราะต้องการเรียนรู้ส่วนตัว เพื่อประกอบอาชีพ และเพื่อต่อยอดในอาชีพอื่นเช่น นักกายภาพ นักกีฬา เป็นต้น
“หมอนวดเป็นอาชีพที่ไม่มีวันตกงาน” ปรีดา ตั้งตรงจิตร ที่ปรึกษาศูนย์สุขภาพเชตวัน ทายาทรุ่นสอง ที่ดำเนินกิจการโรงเรียนต่อจาก ‘กำธร ตั้งตรงจิตร’ ผู้เป็นบิดา กล่าวเน้นย้ำ เนื่องจากความนิยมในการนวดแผนโบราณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพนวดแผนโบราณในต่างประเทศเองก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติจนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศไทย จึงทำให้อาชีพหมอนวดเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง
เหตุที่ทำให้การนวดแผนโบราณของไทยได้รับความนิยม เป็นเพราะสามารถใช้ในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ อย่างได้ผล ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ระบบน้ำเหลือง และกล้ามเนื้อ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และถือเป็นวิธีการรักษาโรคแขนงหนึ่งในตำราแพทย์แผนโบราณ
ไม่เพียงแต่เป็นโรงเรียนสอนนวดแผนโบราณเท่านั้น แต่เชตวันยังมีบริการนวดไทยต้นตำรับวัดโพธิ์ทั้งในชื่อของ “โรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวัน” และ “ศูนย์สุขภาพเชตวัน” ไว้คอยบริการอีกด้วย โดยสามารถนวดได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงวัยชรา ซึ่งในการนวดทารกนั้นจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีได้ มีการนวดเพื่อผ่อนคลายและบำบัดโรคสำหรับผู้ใหญ่ รวมไปถึงการนวดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตด้วยเช่นกัน
อีกทั้งยังมีโปรแกรมดูแลสุขภาพแบบครบวงจรที่ปรับตามวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมและแก้ปัญหาสุขภาพ โดยมีนักโภชนาการ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพ และหมอนวดผู้ชำนาญการดูแลอย่างใกล้ชิด ระยะเวลาของแต่ละโปรแกรมขึ้นอยู่กับผู้ที่เข้ามารับบริการเป็นหลัก อาทิ โปรแกรมผ่อนคลายสำหรับผู้ทำงานหนัก (Re-Energize Program) โปรแกรมบำบัดโรคที่พบบ่อยจากการทำงาน (Office Syndrome Management) โปรแกรมบำบัดอาการปวดหลัง (Low Back Pain Management) และโปรแกรมสำหรับผู้สูงอายุ (Elderly Health Care) เป็นต้น
แม้ว่าในปัจจุบันการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่โรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวันยังคงมีการพัฒนาและปรับตัวอยู่ตลอดเวลาทั้งในส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอนและในส่วนของงานบริการ โดยได้วิจัยและประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านกายวิภาคศาสตร์ จุลชีววิทยา กับการนวดแผนโบราณเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อพัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ครอบคลุมมากขึ้น และพัฒนาจนการนวดแผนไทยได้รับการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 18 แห่ง
อีกทั้งยังนำการนวดมาใช้บำบัดเด็กออทิสติกที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว ซึ่งการนวดจะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ทำให้เด็กสามารถควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และยังช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย มีสมาธิมากขึ้นอีกด้วย
โปรเจ็กต์ล่าสุดที่เชตวันมีแผนจะดำเนินการคือการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจรที่เชียงใหม่ โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่องของสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และกิจกรรม มุ่งหวังให้เป็นสังคมสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
อาจกล่าวได้ว่าโรงเรียนนวดแผนโบราณเชตวันคือผู้ที่รักษา สืบสาน และถ่ายทอดความรู้ด้านการนวดแผนโบราณอันเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มีคุณค่าให้คนรุ่นหลังรู้จัก และมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การนวดแผนโบราณของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จนกลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์และจุดขายของประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น